77 ล้านคนนักท่องเที่ยวจีน “อยากมาไทย” โอกาสแบรนด์เจาะตลาดอย่างไรให้ตรงกลุ่มเป้า

มายด์แชร์ เผยโอกาสสำหรับแบรนด์
เจาะตลาดนักท่องเที่ยวจีน

ลลิต คณาวิวัฒน์ไชย

สถิตินักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาไทย ปี 2561 จำนวน 38 ล้านคน ชาวจีนมาเป็นอันดับ 1 ด้วยจำนวน 10.5 ล้านคน สร้างรายได้ 5.8 แสนล้านบาท ปีนี้ ททท.วางเป้าหมายเพิ่มขึ้นกว่า 11 ล้านคน แม้ก่อนหน้านี้จะมีข่าวในเชิงลบเกี่ยวกับประเทศไทย ที่กระทบกับตลาดนักท่องเที่ยวจีน แต่พบว่า Perception ของนักท่องเที่ยวจีนยังมีมุมอง “ที่ดีมาก” กับประเทศไทย นั่นถือเป็นโอกาสของทั้งการท่องเที่ยวและสินค้าต่าง ๆ ในไทย เพราะชาวจีนติดอันดับนักช้อปมือหนึ่งเช่นกัน

 

ลลิต คณาวิวัฒน์ไชย Head of Strategy มายด์แชร์ ประเทศไทย กล่าวว่า จากการเก็บข้อมูล (ดาต้า) ของ มายด์แชร์ ประเทศจีน ในกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ พบว่าชาวจีน “รู้จัก” เมืองไทยเป็นอย่างดี มีคนจีนที่สนใจและมีแผนว่าต้องการมาท่องเที่ยวไทยกว่า 77 ล้านคน จำนวนมากกว่าประชากรในประเทศไทยในปัจจุบัน นั่นเท่ากับโอกาสมหาศาล ของทั้งการท่องเที่ยวและการขายสินค้าในไทยให้กับนักท่องเที่ยวจีน

 

กลุ่ม Fourth Tier มาไทยมากสุด

เดิมมักเข้าใจกันว่านักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศมาจากเมืองใหญ่ หรือกลุ่ม First Tier แต่จากข้อมูลพบพฤติกรรมนักท่องเที่ยวจีนที่มาไทย พบว่ามาจากเมืองรองมากขึ้น โดยแบ่งสัดส่วนออกเป็น First Tier 18%, Second Tier 28%, Third Tier 23% และ Fourth Tier 31% ซึ่งเป็นสัดส่วนมากที่สุดในปัจจุบัน

 

สัดส่วนดังกล่าวเกิด First Tier ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงสุด เคยเดินทางมาเที่ยวไทยแล้ว และวนเวียนไปท่องเที่ยวประเทศอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน การที่นักท่องเที่ยวจีนจากเมืองรองเดินทางมาท่องเที่ยวไทยมากขึ้น ทำให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติในไทยเพิ่มขึ้นทุกปี เพราะยังมีชาวจีนจากเมืองรองต้องการมาท่องเที่ยวไทยเป็นตัวเลือกแรกๆ

“สิ่งที่จูงใจนักท่องเที่ยวจีนให้เดินทางมาไทย เพราะกลุ่มที่มาท่องเที่ยวไทยจะบอกต่อและโพสต์โชว์โซเชียล แหล่งท่องเที่ยว อาหาร ช้อปปิ้ง สินค้าที่ซื้อ และพูดถึงแต่เรื่องดี ๆ ทำให้นักท่องเที่ยวจีนสนใจมาท่องเที่ยวตามกัน เพราะรู้สึกว่าใคร ๆ มาก็ชอบ หากตัวเองไปก็น่าจะชอบ”

 

เที่ยวทั้งปี ไม่มีโลว์ซีซัน

แน่นอนว่าการเดินทางท่องเที่ยวสูงสุด จะอยู่ในช่วงวันหยุดยาวของชาวจีน คือ วันชาติ (The National Day Holiday) และตรุษจีน แต่การเดินทางต่างประเทศในช่วงนี้ จะมีค่าใช้จ่ายสูง เพราะเป็นช่วงที่คนส่วนใหญ่เดินทางท่องเที่ยว

 

ปัจจุบันนักท่องเที่ยวจากเมืองรองอันดับ 3 และ 4 เดินทางมาไทยมากขึ้น เป็นกลุ่มที่มีงบประมาณท่องเที่ยวไม่มากเท่า First Tier จึงเลือกมาช่วงนอกฤดูกาลแทน และบางกลุ่มที่เดินทางเป็นครอบครัวช่วงปิดเทอม พฤติกรรมการเดินทางดังกล่าว ทำให้มีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาไทย “ตลอดทั้งปี” แบบไม่มีโลว์ซีซัน

 

นักท่องเที่ยวจีนเป็นกลุ่มที่คุ้นเคยกับการใช้อินเทอร์เน็ต การวางแผนท่องเที่ยวจึงใช้แพลตฟอร์ม อีคอมเมิร์ซ จองทริปทั้งตั๋วโดยสารเครื่องบินและที่พัก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวที่เดินทางท่องเที่ยวด้วยตัวเอง (FIT) ส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม First Tier และ Second Tier สัดส่วน 53% แต่ก็ยังมีนักท่องเที่ยวจีนบางกลุ่มที่วางแผนท่องเที่ยว โดยใช้ “เอเย่นต์ทัวร์” มีสัดส่วน 47% และเป็นกลุ่ม DIY คือใช้ทั้งออนไลน์และเอเย่นต์ทัวร์ 17%

 

รู้จัก 4 กลุ่มนักท่องเที่ยวจีน

พฤติกรรมการท่องเที่ยวจะวางแผนล่วงหน้า 1 เดือน หากเป็นทริปสั้น 5 – 7 วัน โดยแบ่งกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนตามพฤติกรรมและทัศนคติแล้ว จะมีทั้งหมด 4 กลุ่ม

 

1. Status Seekers สัดส่วน 10% เป็นกลุ่ม FIT อายุ 24 – 34 ปี อาศัยในเมืองใหญ่ เดินทางทั้งบิสสิเนส ทริปและท่องเที่ยวพักผ่อนเอง เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง สัดส่วนสูงสุดของการใช้จ่ายหมดไปกับการช้อปปิ้ง และ สเปเชียลเซอร์วิสต่างๆ เช่น สปา เป็นกลุ่มที่เดินทางบ่อย 4 – 5 ครั้งต่อปี ใช้เงิน 57,000 บาทต่อทริป

2. Achievers อายุ 35 – 45 ปี สัดส่วน 30% เป็นกลุ่มที่ทำงานระดับสูงและทำงานหนัก การเดินทางท่องเที่ยวจะมาในช่วงเทศกาล จัดการวางแผนท่องเที่ยวเองผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ต่อปีจึงท่องเที่ยวไม่บ่อย จึงใช้เป็นทริปยาว 6 – 9 วัน เดินทางเป็นครอบครัวเล็ก พ่อแม่ลูก ชอบท่องเที่ยวในสถานที่ที่ได้รับความนิยมของไทย แต่ช้อปปิ้งไม่มาก ใช้เงิน 52,000 บาทต่อทริป

3. Conformists สัดส่วน 31% อายุ 35 ปีขึ้นไป เป็นกลุ่มที่มาจากเมืองรองและไม่ได้มีโอกาสท่องเที่ยวต่างประเทศมากนัก แต่เป็นกลุ่มที่มีความต้องการที่จะเดินทางท่องเที่ยว เป็นกลุ่มที่ได้ยินการบอกต่อเรื่องเล่าในมุมที่ดีจากเมืองไทย ดังนั้นเมื่อตัดสินใจท่องเที่ยวจึงเลือกเดินทางมาไทย เป็นตัวเลือกแรก ๆ และเป็นกลุ่มที่ระมัดระวังการใช้จ่ายจึงเดินทางช่วงนอกฤดูกาล แต่เพราะรู้สึกว่าประเทศไทย เดินทางมาเมื่อไหร่ก็สวย จึงเลือกช่วงที่ไม่ใช่ไฮซีซัน ใช้เงิน 43,000 บาทต่อทริป

 

“กลุ่มนี้มีความรู้สึกว่าหากมาท่องเที่ยวไทยก็น่าจะชอบ เพราะมีแหล่งท่องเที่ยวและกิจกรรมให้ทำหลากหลาย และรู้สึกว่าอย่างไรก็ไม่ผิดหวังกับการมาท่องเที่ยวไทย และรู้สึกว่าประเทศไทยไม่แพง จึงสามารถจ่ายได้”

 

4. Family-Oriented Group สัดส่วน 29% อายุ 35 ปีขึ้นไป เป็นกลุ่มที่อาศัยในเมืองรอง การเดินทางท่องเที่ยวจะมาแบบ 3 เจนเนอเรชั่น ปู่ย่า ตายาย พ่อแม่ และลูก เลือกท่องเที่ยวช่วงปิดเทอม มองหาสถานที่ท่องเที่ยวที่สามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ทุกคน กลุ่มนี้เดินทางท่องเที่ยว “เช็กลิสต์” ตามแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของไทย ชอบอาหารไทย ไม่เน้นช้อปปิ้ง ใช้เงิน 46,000 บาทต่อทริป

 

สื่อสารอย่างไรเข้าถึงนักท่องเที่ยวจีน

ตัวเลขนักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลมาไทย ก็ต้องบอกว่า “เพิ่มขึ้น” ทุกปี เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ อีกทั้งมีการจับจ่ายกับสินค้าหลากหลายประเภท ทำให้สินค้าและแบรนด์ต่าง ๆ สนใจเจาะตลาดนักท่องเที่ยวจีน

 

“แต่หากไม่รู้จักว่านักท่องเที่ยวจีน เป็นคนแบบไหน มีพฤติกรรมท่องเที่ยวที่ไหน ใช้เงินอย่างไร ก็เป็นเรื่องยากที่จะเข้าคนกลุ่มนี้”

 

ลลิต บอกว่าการสื่อสารและทำตลาดเพื่อเข้าถึงนักท่องเที่ยวจีน จะดูทั้ง Customer Journey ตั้งแต่เริ่มค้นหาทริปท่องเที่ยว กระทั่งเดินทางมาท่องเที่ยวในไทย ดังนั้นกระบวนการสื่อสารจึงต้องเริ่มตั้งแต่นักท่องเที่ยวจีนเริ่มหาข้อมูล

 

ในกลุ่ม Status Seekers และ Achievers ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้ออาศัยในเมืองหลักเป็นกลุ่ม FIT ที่วางแผนทริปผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์และโซเชียลมีเดียของจีน เช่น WeChat ดังนั้นเมื่อนักท่องเที่ยวจีนเริ่มค้นหาข้อมูลท่องเที่ยว จองตั๋วโดยสารเครื่องบิน กระบวนการสื่อสารของแบรนด์ที่ต้องการเข้าถึงกลุ่มนี้ จะต้องส่งข้อมูลสินค้าและโปรโมชั่นของช้อปที่สนามบินไปให้ รวมทั้งอี-คูปอง เพื่อให้มาแลกรับส่วนลดที่ช้อป และยังสามารถวัดผลจากการสื่อสารได้อีกด้วย

 

เมื่อนักท่องเที่ยวจีนมาท่องเที่ยวในไทยแล้ว ระหว่างที่อยู่เมืองไทย จะใช้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่เป็น “กรุ๊ปแชท” สอบถามแหล่งท่องเที่ยว ช้อปปิ้ง ร้านอาหาร ดังนั้นหากมีการสอบถามเข้ามา ระบบจะแนะนำร้านอาหารและแหล่งช้อปปิ้งต่างๆ ในจังหวะนี้ระบบในกรุ๊ปแชท จะให้ข้อมูลโปรโมชั่นของสินค้าและแบรนด์ต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้เคียงสถานที่ที่นักท่องเที่ยวจีนกำลังเดินทางไปได้เช่นกัน เป็นอีกช่องทางการสื่อสารและทำตลาดกับนักท่องเที่ยวจีน

 

จากพฤติกรรมนักท่องเที่ยวจะพบว่ากลุ่มที่มาจากเมืองรองอันดับ 3 และ 4 ยังมีกลุ่มที่วางแผนท่องเที่ยวผ่าน “เอเย่นต์ทัวร์” เพราะยังไม่ใช้เทคโนโลยีมากเท่ากลุ่มที่มาจากเมืองใหญ่ จึงต้องการให้เอเยนต์ทัวร์แนะนำการท่องเที่ยว แม้ทริปท่องเที่ยวจะให้เอเย่นต์ทัวร์จัดการให้ แต่สำหรับสินค้าที่จะมาช้อปปิ้งในไทยทั้งเพื่อตัวเองและซื้อฝาก กลุ่มนี้จะใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ และโซเชียลมีเดียในการหาข้อมูลมาล่วงหน้าเกี่ยวกับสินค้าที่ได้รับความนิยมและ “ต้องซื้อ”

 

ปัจจุบันสินค้าในไทยได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวจีนอย่างมาก โดยเฉพาะสินค้าแฟชั่นแบรนด์เนมจากต่างประเทศที่เปิดช็อปในไทย เพราะนักท่องเที่ยวจีนเชื่อมั่นว่าเป็น “ของจริง” รวมทั้งสินค้าที่ผลิตในไทยในกลุ่ม FMCG ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร สแน็ก

 

ดังนั้นการสื่อสารและการทำตลาดในกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนทั้งหมด จะต้องทำทั้งออฟไลน์และออนไลน์ โดยดูจากพฤติกรรมกลุ่มเป้าหมายทั้ง 4 กลุ่มที่แบรนด์ต้องการเข้าถึง ซึ่งจะสร้างโอกาสให้แบรนด์เป็นตัวเลือกของนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาไทยกว่า 10 ล้านคนต่อปี และมีอีกจำนวนมากที่ต้องการมาไทย.

 

ข้อมูลจาก Positioning Magazine วันอังคารที่ 21 พฤษภาคม 2562

The Latest