นับเป็นปีที่ 5 ที่ กรุ๊ปเอ็ม (ประเทศไทย) ได้ทำการต่อยอดในเรื่องของการศึกษาบทบาทของสื่อดิจิทัลต่ออินไซต์และพฤติกรรมของผู้บริโภคชาวไทยที่เปลี่ยนแปลงไป และนำเสนอผลการศึกษาผ่านงานสัมมนาการตลาดดิจิทัลประจำปีหรือ GroupM FOCAL
สำหรับในปี 2563 นี้ กรุ๊ปเอ็ม ได้ทำการรวบรวมและนำเสนอผลวิจัยประจำปีภายใต้ชื่อ “2020 CONSUMERS UNTOLD” ซึ่งแผนกพัฒนาและการตลาดของ กรุ๊ปเอ็ม ได้ทำการศึกษาผู้บริโภคจำนวน 200 คน จาก 11 จังหวัดใน 4 ภาคทั่วประเทศรวมถึงกรุงเทพฯ ระหว่างเดือนมกราคมจนถึงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ผ่าน 4 วิธีวิจัย ซึ่งการศึกษาในปีนี้มีความพิเศษตรงที่มีการ Re-visit เพื่อตรวจสอบความเปลี่ยนแปลงของอินไซต์ที่รวมไปถึงพฤติกรรมและทัศนคติในการใช้ชีวิต การรับสื่อ และการใช้จ่ายเงิน ทั้งก่อนและหลังการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสหรือโควิด-19 โดย ณัฐวีร์ ณีว มาวิจักขณ์ ผู้บริหารแผนกพัฒนาและการตลาด และ แพน จรุงธนาภิบาล รองผู้อำนวยการแผนกพัฒนาและการตลาด ของ กรุ๊ปเอ็ม ได้สรุปผลการศึกษาที่น่าสนใจสำหรับนักการตลาดออกเป็น 4 หัวข้อสำคัญดังนี้
Neil Mavichak and Pan Jroongtanapibarn at FOCAL 2020
COVID-19 กับชีวิตที่เปลี่ยนไป
ผลสำรวจพบว่าในช่วงแรกของการแพร่ระบาดไวรัส คนไทยมีความวิตกต่อความปลอดภัยและความไม่แน่นอนในเรื่องการงานที่รวมไปถึงการเงิน หลายครอบครัวมีการเรียกให้สมาชิกที่อาศัยหรือทำงานอยู่ที่จังหวัดอื่น ๆ ให้กลับมาอยู่รวมกันที่บ้านเกิด ด้วยเหตุนี้จึงพบว่าความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัวมีการพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น เนื่องจากการล็อกดาวน์ทำให้สมาชิกต้องอยู่รวมกัน ดังนั้นรูปแบบของการปฏิสัมพันธ์ภายในครอบครัวจึงได้เปลี่ยนจากการใช้สื่อดิจิทัลมาเป็นแบบพบปะ พูดคุย และเห็นหน้ากัน ส่งผลให้คนเห็นคุณค่าของสถาบันครอบครัวมากขึ้น
Elderly for FOCALTeen and Phone at FOCAL
ทั้งนี้คนไทยยังคงมีความวิตกกังวลในเรื่องของอนาคต โดยกลุ่มผู้บริโภควัยกลางคนและผู้สูงวัยจะมีความกังวลในเรื่องของสุขภาพ และความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโควิด-19 มากกว่าวัยอื่น ๆ ส่วนวัยรุ่นจะมีความกังวลต่ออนาคตหลังเรียนจบว่าจะมีงานทำหรือไม่ และสำหรับกลุ่มวัยทำงานจะมีความกลัวต่อความมั่นคงในเรื่องรายได้และความเสี่ยงที่จะตกงาน
ในช่วงแรกที่มีข่าวกระแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 พบว่าคนส่วนมากมีความตื่นตระหนกและมีความกังวลว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องใหญ่ ผ่านบรรยากาศของการนำเสนอข่าวสารจากสื่อต่าง ๆ ที่เข้มข้น รวมไปถึงกระแสของการแชร์ข่าวและข้อมูลต่าง ๆ บนโลกโซเชียล แต่เมื่อเวลาผ่านไปคนไทยกลับเริ่มมองว่าตอนนี้สถานการณ์สำหรับประเทศไทยได้กลับเข้าสู่สภาวะเกือบจะปกติแล้ว อีกทั้งยังพบว่ามีคนบางส่วนมีความเชื่อที่อิงกับเรื่องของศาสนาว่าการติดเชื้อโควิด-19 น่าจะเป็นเรื่องของกรรม ถ้าถึงคราวเคราะห์จริง ๆ คงเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหนีพ้น แต่ในทางกลับกันหากเพียรทำความดีและยังไม่ถึงคราวก็คงจะรอดจากวิกฤตินี้
สำหรับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดจากเชื้อไวรัสที่ทั้งภาครัฐและเอกชนได้ร่วมกันจัดทำขึ้นระหว่างปลายเดือนมีนาคมจนถึงเดือนมิถุนายน อาทิ การล็อกดาวน์ การเว้นระยะห่างทางสังคม ทำให้ผู้บริโภคมีเวลาและโอกาสที่จะใช้ชีวิตอยู่กับตัวเองและอยู่ที่บ้านมากขึ้น สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้เกิดการพัฒนาพฤติกรรมและมีความคุ้นชินกับการใช้ชีวิตในรูปแบบใหม่ เช่น การทำงานจากที่บ้าน การสวมหน้ากากอนามัย ความคุ้นชินที่จะค้นหาข้อมูลต่าง ๆ อย่างคล่องแคล่ว รวมไปถึงเริ่มเสพติดกับความสะดวกสบายที่มากับบริการผ่านระบบดิจิทัลจากแบรนด์ต่าง ๆ ทั้งด้านสินค้าและบริการ
Delivery at FOCAL 2020
“ตั้งแต่เกิดมา 30 ปี ผมไม่เคยสั่งของออนไลน์เลยจนกระทั่งเกิดโควิด เลยลองสั่งของจากเซเว่นฯ หน้าค่ายผ่านไลน์
ทุกวันนี้อยากได้อะไรก็แค่ส่งไลน์ไป แวปเดียวก็มาส่งให้ถึงในค่าย ทั้งที่จริง ๆ แล้วเดินไปก็ได้”
นายทหาร อายุ 30 ปี – ภาคใต้
งานวิจัยยังพบอีกว่าคนไทยบางส่วนเกิดแรงบันดาลใจใหม่ ๆ จากการติดตามคอนเทนต์ และใช้สื่อดิจิทัลเป็นช่องทางในการตามความฝัน ตามหาสิ่งที่สนใจ และหารายได้ใหม่
“ผมมีความฝันอยากเป็นผู้ประกาศข่าวของกรมประชาสัมพันธ์
ตอนนี้มีเวลามากขึ้นที่จะหาความรู้จาก YouTube เริ่มที่จะหัดอ่านออกเสียงจากแบบฝึกหัด เผื่อไว้ถ้ามีโอกาสจะได้ไปสอบ”
ผู้ชายวัยเกษียณ อายุ 68 ปี – ภาคกลาง
หากอ้างอิงจากผลวิจัยของ กรุ๊ปเอ็ม เมื่อปี 2562 ที่พบว่าคนรุ่นใหม่มีเป้าหมายที่จะกลับมามาช่วยพัฒนาชุมชนและสังคมที่บ้านเกิด แต่จากการเข้ามาของโควิด-19 ทำให้ทุกคนต้องหันกลับมาให้ความสำคัญกับการเอาต้วรอดก่อน โดยในกลุ่มวัยหนุ่มสาวมีมุมมองที่จะใช้สื่อดิจิทัลเพื่อหาหรือทำงานที่สามารถสร้างเงินได้ทันที ผู้ชายวัยหนุ่มทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัดเลือกที่จะมาขับ Grab เป็นอาชีพเสริม
“ทุกวันนี้ได้ค่าขนมจากที่บ้านวันละ 200 บาท
พอเลิกเรียนผมก็ขับ Grab ต่อถึง 3 ทุ่ม ก็ได้เป็นเงินเพิ่มทุกวัน”
นักศึกษาชาย อายุ 21 ปี – กรุงเทพฯ
อีกหนึ่งอาชีพที่ได้รับความนิยมจากทั้งผู้บริโภคชายและหญิงก็คือการขายสินค้าออนไลน์ผ่านโซเชียลมีเดีย โดยที่ผู้หญิงเริ่มที่จะให้ความสนใจในการขายของแบบไลฟ์มากกว่า ซึ่งสินค้าที่ขายนั้นพบว่ามีความหลากหลายมากขึ้น จากความนิยมในเรื่องของสินค้าไอที แฟชั่น และอาหาร แต่ในเวลานี้ขอบเขตของการขายสินค้าออนไลน์ได้ถูกขยายออกมาเป็น อาหารสดพร้อมปรุง ต้นไม้ สัตว์เลี้ยง หรือแม้กระทั่งบ้านและที่ดิน ข้อมูลจาก Wisesight พบว่าตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคมที่มีการล็อกดาวน์มีจำนวนการไลฟ์เยอะขึ้นอย่างมาก อัตราการไลฟ์เริ่มมีการลดลงหลังมาตรการคลายล็อกแต่ก็ยังถือว่าสูงกว่าในช่วงก่อนที่จะมีการระบาดของไวรัสโควิด ซึ่งนับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป
การใช้สื่อของคนไทย กับทางเลือกที่มากขึ้น
ผลการสำรวจในปีนี้พบว่าจากสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายในประเทศทำให้คนไทยเริ่มมีความกังวลเกี่ยวกับการถูกปิดกั้นของข้อมูลข่าวสารก่อนที่จะถูกนำเสนอออกมาบนสื่อหลัก ความกังวลนี้ส่งผลให้ผู้คนเริ่มที่จะให้ความสำคัญกับข่าวสารและข้อมูลที่ถูกส่งผ่านออกมาทางสื่อดิจิทัลที่มีความรวดเร็วกว่าสื่อหลัก อีกทั้งยังสามารถนำผู้บริโภคไปยังข้อมูลหรือเนื้อหาที่ตนเองให้ความสนใจแบบเฉพาะเจาะจงผ่านการใช้แฮชแท็ก เป็นที่น่าสนใจว่าในการสำรวจรอบนี้ Twitter ได้กลายเป็นสื่อดิจิทัลที่คนเกือบทุกกลุ่มพูดถึงในเรื่องของการติดตามข่าวมากกว่า Facebook
“ข่าวบนทีวีหรือหนังสือพิมพ์เดี๋ยวนี้มันช้า กว่าแต่ละข่าวจะออกมาได้ผ่านเซ็นเซอร์ไปไม่รู้เท่าไหร่
สู้เอานิ้วไถ ๆ บนมือถือไม่ได้ รู้เรื่องเร็วกว่าเยอะ”
พ่อค้า อายุ 52 ปี – ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
“พวกสื่อเค้าก็นำเสนอแต่ข่าวใหญ่ ๆ แต่บางทีเราก็อยากรู้ข่าวของเมืองเราจังหวัดเรา
ก็เลยใช้แฮชแทคจังหวัดหรือสถานที่บน Twitter ไปเลย ง่ายดี”
แม่บ้าน อายุ 39 ปี – ภาคเหนือ
ในส่วนของคอนเทนต์ประเภทเคลื่อนไหว (ทีวีและวิดีโอ) ที่ได้รับการพูดถึงมากที่สุด ได้แก่ Facebook, YouTube, Netflix, TV, LINE TV และ Mello.me ซึ่งมีความคล้ายรายงานเมื่อปีที่แล้ว โดยมี 2 แพลตฟอร์มหน้าใหม่ที่เพิ่มขึ้นมาก็คือ WeTV และ TikTok ส่วนคอนเทนต์ประเภทเพลงคนไทยยังคงติดตาม YouTube, Spotify, JOOX และแอปฯ ฟังวิทยุออนไลน์
Phone for FOCAL
ผลการศึกษาในปีนี้ยังระบุว่าสื่อดิจิทัลอย่างเว็บไซต์เกี่ยวกับคอนเทนต์การ์ตูนได้ถูกพูดถึงมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภควัยทำงานและวัยผู้ใหญ่ แม้ว่าสื่อดิจิทัลจะมีบทบาทขึ้นมากในชีวิตประจำวันแต่หนึ่งสิ่งที่น่าจับตามองก็คือหากพูดถึงสื่อที่สามารถสร้างการรับรู้แบรนด์ สื่อนอกบ้านหรือ Out of Home กลับถูกพูดถึงเป็นอันดับแรก ตามมาด้วยสื่อดิจิทัลอื่น ๆ อย่าง Facebook, TV, YouTube, JOOX และ Instagram
จากการสำรวจยังพบอีกว่าคอนเทนต์บนสื่อหลักในช่วงปีที่ผ่านมาจะเริ่มมีการนำเสนอออกมาเป็นภาษาถิ่นมากขึ้นทั้งในรูปแบบละครและเพลงประกอบละคร คอนเทนต์ประเภทนี้กำลังได้รับความนิยมจากผู้บริโภคในต่างจังหวัดยิ่งหากได้เปิดโอกาสให้ดารานักแสดงได้ใช้ภาษาถิ่นในคอนเทนต์ก็จะยิ่งได้รับความนิยมและถูกเอ็นดูมากยิ่งขึ้น
ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาคนไทยได้เริ่มหันดูคอนเทนต์ผ่านแอปพลิเคชันและสื่อดิจิทัลมากขึ้น และเริ่มมีพฤติกรรมการเสพคอนเทนต์แบบ Cross Content โดยเริ่มหาคอนเทนต์อื่น ๆ ที่มีความน่าสนใจและแปลกใหม่ในเรื่องของเนื้อหาและการนำเสนอ โดยคอนเทนต์จากต่างประเทศอย่างเช่น จีน เกาหลี หรือแม้แต่อินเดีย กำลังเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยม พฤติกรรมนี้สอดคล้องกับข้อมูลจาก Tencent ที่พบว่ากว่า 50% ของผู้ที่ดูละครฉลาดเกมส์โกง The Series บน WeTV เข้าดูคอนเทนต์จากประเทศจีนต่อ
ทั้งหมดนี้ยังไม่รวมถึงคอนเทนต์ที่ถูกผลิตขึ้นโดยอินฟลูเอนเซอร์และคนทั่วไปที่สามารถผลิตคอนเทนต์ได้เอง ส่งผลให้ปัจจุบันผู้บริโภคเกิดการ Over Load หรือได้รับข้อมูลที่เยอะเกินไป ทั้งนี้หากนักการตลาดและแบรนด์ต้องการที่จะผลิตคอนเทนต์จะต้องคิดและวางกลยุทธ์เพื่อให้คอนเทนต์มีความพิเศษและความโดดเด่นพอที่จะทำให้คนมาติดตามได้
เงิน เงิน เงิน – คนไทยยังกังวลและวางแผนมากขึ้นก่อนใช้จ่าย
สถานการณ์และผลกระทบที่มาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดถือเป็นปัจจัยสำคัญในการเร่งผลัดดันให้คนไทยหันไปใช้เงินแบบดิจิทัลมากขึ้น รวมถึงยังมีการสนับสนุนจากรัฐบาลในเรื่องของมาตรการการให้เงินช่วยเหลือต่าง ๆ ที่มาในรูปแบบดิจิทัลอีกด้วย
จากเหตุการณ์โควิด-19 ผู้บริโภคในปีนี้ต่างระบุว่ามีการวางแผนในเรื่องของการใช้เงินมากขึ้นกว่าเดิม ต้องมีเงินสดติดตัวไว้เพื่อรองรับกับเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึง ดังนั้นแผนการซื้อสินค้าประเภทฟุ่มเฟือยและมีราคาสูงอย่างโทรศัพท์มือถือหรือรถมอเตอร์ไซค์ จะถูกเลื่อนออกไปก่อนจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น
ในส่วนของสินค้าอุปโภคบริโภค คนไทยจะมองหาสินค้าที่มีขนาดหรือปริมาณที่เล็กลง มีการเปรียบเทียบราคาสินค้าสลับไปมาทั้งออฟไลน์และออนไลน์เพื่อให้ได้มาซึ่งราคาที่คุ้มค่าที่สุด โปรโมชั่นลดราคาประจำเดือนจากมาร์เก็ตเพลสอย่าง 9.9 หรือ 11.11 นับเป็นเทศกาลที่ผู้บริโภคต่างเฝ้ารอเพื่อที่จะซื้อสินค้าในราคาที่ถูกลง
Shopping at FOCALPromotion at FOCAL
สิ่งที่ผู้บริโภคจะซื้อในทางช่องทางออฟไลน์ ก็คืออาหารสดหรือสิ่งของที่ต้องใช้ในตอนนั้น เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่วนการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์จะเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไปหรือของที่มีน้ำหนักมากเพราะไม่ต้องการถือกลับมาเอง เช่น น้ำดื่ม อาหารกระป๋อง แชมพูสระผม ฯลฯ ในส่วนของสินค้าที่ค่อนข้างมีราคา ต้องใช้มาก ๆ หรือบ่อย ๆ อย่างเช่น นมสำหรับเด็ก ผ้าอ้อม เครื่องปรุงอาหาร แม้จะยังไม่หมด แต่หากมีโปรโมชั่นที่คุ้มราคา ก็พร้อมจะซื้อเพื่อตุนของไว้ก่อนไม่ว่าจะเป็นแบบออนไลน์หรือออฟไลน์
“ตั้งแต่เริ่มไม่แจกถุงพลาสติก ก็ไม่รู้จะหอบของกลับบ้านยังไง
นอนดูซีรีส์ ไถมือถือสั่งออนไลน์เดี๋ยวก็มาส่งถึงหน้าบ้านแล้ว”
พนักงานบริษัท ผู้หญิง อายุ 27 ปี – ภาคกลาง
คนไทยยังมองว่าหวยเป็นทั้งความหวังและความสนุก เป็นช่องทางลัดที่สามารถทำให้รวยและมีเรื่องได้คุยกับคนอื่นได้ สำหรับในปีนี้พบว่าคือคนไทยหันมาตรวจรางวัลจากช่องทางออนไลน์อย่าง Sanook.com ผ่านโทรศัพท์มือถือเป็นหลัก ซึ่งพฤติกรรมนี้ต่างจากที่ปีก่อน ๆ ที่จะใช้การตรวจผลทั้งแบบออนไลน์และจากหนังสือพิมพ์เพื่อความมั่นใจ ทั้งนี้คนไทยในทุก ๆ ภาคยังคงมีความสุขกับกิจกรรมบนโลกดิจิทัลที่เชื่อมโยงกับความเชื่อ ดวงชะตา ที่เป็นเสมือนพลังที่ให้ความหวังในการดำเนินชีวิตและการเงิน อย่างเช่น การดูดวง การเสี่ยงเซียมซี การดูเลขมงคล เป็นต้น
คำแนะนำสำหรับแบรนด์และนักการตลาด
เข้าถึงและปิดการขายให้ไว
เมื่อสื่อมีเยอะมากขึ้น แต่ผู้บริโภคมีเงินที่จะใช้จ่ายน้อยลง นักการตลาดและแบรนด์ควรวางแผนกลยุทธ์เพื่อดึงดูดให้ผู้บริโภคตัดสินใจจบการซื้อให้เร็วที่สุด
หยุด / คิด / ถาม – หากเป็นเรื่องของ Data
ทุกกิจกรรมของผู้บริโภคบนโลกออนไลน์ในตอนนี้สามารถนำมาเป็นข้อมูลและนำมาประยุกต์ใช้ในการวิเคราะห์เพื่อวางแผนการตลาดได้ ถ้าหากยังไม่เข้าใจว่าต้องทำอย่างไรกับข้อมูลที่มีอยู่ ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ
เลือกใช้อินฟูลเอนเซอร์ให้ถูกกับคอนเทนต์
ในยุคที่ใคร ๆ ก็เป็นอินฟูลเอนเซอร์ได้ สิ่งที่จะทำให้แบรนด์สามารถนำหน้าคู่แข่งได้ก็คือการนำ Data เพื่อนำมาออกแบบการวางแผนและคอนเทนต์ร่วมกับอินฟูลเอนเซอร์จึงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ขายเก่งแล้วต้องอย่าลืมสร้างแบรนด์
ในช่วงที่ทุกธุรกิจเต็มไปด้วยการแข่งขันในเรื่องของราคาและโปรโมชั่นเพื่อสร้างยอดขาย นักการตลาดต้องไม่ลืมว่าสิ่งที่สำคัญอีกหนึ่งสิ่งก็คือการสร้างแบรนด์ ซึ่งเป็นการลงทุนระยะยาวเพื่อที่จะทำให้ผู้บริโภคสามารถจดจำ
หากท่านต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค “2020 CONSUMERS UNTOLD” สามารถติดต่อแผนกพัฒนาและการตลาด กรุ๊ปเอ็ม (ประเทศไทย) หรือติดต่อผ่านตัวแทนแผนกบริหารงานธุรกิจของเอเยนซี่ในเครือ กรุ๊ปเอ็ม อาทิ มายด์แชร์ มีเดียคอม เวฟเมคเกอร์ เอ็มซิกส์ และมิ้นท์
ทั้งนี้ทีมงานแผนกพัฒนาและการตลาด กรุ๊ปเอ็ม (ประเทศไทย) ขอขอบพระคุณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เทสโก้โลตัส Tencent และ Wisesight สำหรับความอนุเคราะห์และความร่วมมือในการทำวิจัยในปีนี้
CONTRIBUTORS
GROUPM MARKETING & DEVELOPMENT
ณัฐวีร์ ณีว มาวิจักขณ์ / Neil Mavichak
Managing Partner – Marketing & Development, GroupM Thailand
Neil.Mavichak@groupm.com
นักวางแผนกลยุทธการสื่อสาร อาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัย นักเดินทาง
ผู้มีความหลงใหลในศิลปะการเก็บภาพโมเมนต์ต่าง ๆ ผ่านมือถือพอ ๆ กับการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค
___
แพน จรุงธนาภิบาล / Pan Jroongtanapibarn
Associate Director – Marketing & Development, GroupM Thailand
Pan.Jroongtanapibarn@groupm.com
นักศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค นักการตลาด และผู้ชื่นชอบการวิ่งเป็นชีวิตจิตใจ
___
อิสรีย์ วีรอกนิษฐ์ / Issaree Veerakanit
Manager, Marketing & Development – GroupM Thailand
Issaree.Veerakanit@groupm.com
นักวางแผนโฆษณาสาวเชื้อสายจีน แต่พูดจีนได้เท่าเด็กระดับ ป. 2
ผู้ผ่านประสบการณ์งานโฆษณาดิจิทัลมาอย่างโชกโชน
ทุกสายตาต้องมองมาที่เธอเมื่อเธอเดินเข้ามา เพราะเสียงดัง
เรื่องราวจะเป็นยังไงต่อนั้นสามารถมาเจอตัวจริงเธอได้ที่ชั้น 24 หลังจากสถานการณ์ Coronavirus นะจ๊ะ
___
นันท์ทนนท์ กิจเจริญนันท์ / Nantanont Kijcharoennant
Supervisor, Marketing & Development – GroupM Thailand
Nantanont.Kijcharoennant@GroupM.com
นักอ่าน นักเขียน นักเรียน นักกิน ผู้หลงใหลในการสื่อสารการตลาดและวิวัฒนาการของวงการโฆษณา
พบตัวได้ง่ายตามร้านชาบูชั้นนำทั่วกรุงเทพฯ
___
ณัฏฐพัชร์ รุ่งนิเวศน์ / Nathtaphat Rungniwet
Supervisor, Marketing & Development – GroupM Thailand
Nathtaphat.Rungniwet@groupm.com
บัณฑิตจากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ผู้มีความสนใจในเรื่องพฤติกรรมผู้บริโภค
ตลอดเวลาเกือบ 4 ปีที่ผ่านมาณัฏฐพัชร์ มีส่วนร่วมในงานวิจัยที่โดดเด่นของ กรุ๊ปเอ็ม รวมถึงงานสัมมนาขนาดใหญ่อย่างเช่น GroupM FOCAL เป็นต้น
___
ศรัณย์พร ปานรักษา / Saranporn Panraksah
Supervisor – Marketing & Development – GroupM Thailand
Saranporn.Panraksah@GroupM.com
มีเดียแพลนเนอร์หน้าหวาน ผู้มีประสบการณ์ตั้งแต่แบรนด์เล็กถึงแบรนด์ใหญ่
อีกทั้งยังเป็นผู้นำเทรนด์ในการแต่งตัวหลากหลายรูปแบบ มี Idol เป็นแรงบรรดาลใจในการทำงาน
___
ณัฐดนัย ตระการวัฒนวงศ์ / Natdanai Trakarnvattanavong
Marketing & Development Executive – GroupM Thailand
Natdanai.Trakarnvattanavong@groupm.com
นักการตลาดน้องใหม่ไฟแรงจากคณะบริหารธุรกิจ มหิดลอินเตอร์
ผู้มีความชื่นชอบการท่องเที่ยวและหาของอร่อย ๆ กินเป็นชีวิตจิตใจ
โดยมีงานรองคือเป็นนักฟุตบอล ปัจจุบันไม่โสดแล้วแต่ขอเบอร์ได้นะครับ