แปลและเรียบเรียง
ชลิตา เลิศศรัทธา
Metaverse กำลังเผชิญกับคำวิจารณ์อย่างหนักตามหน้าสื่อ แต่ในความเป็นจริงแล้วมันมีบทบาทในการพัฒนาวงการและแบรนด์ต่างๆ หรือจริงๆแล้วเราอาจจะต้องเรียกมันด้วยชื่อใหม่?
.
Matt Day
Gaming Strategy Director – PLAY
“RIP Metaverse”, “มันล้มเหลวแล้ว”, “ทิ้งมันไปแล้วเริ่มใหม่”, “เปลี่ยนไปใช้ AI ดีกว่าไหม” คำพูดทั้งหมดนี้ล้วนเป็นการตอกตะปูฝังความเป็น Metaverse อย่างสนุกสนานผ่านหน้าสื่อด้านเทคโนโลยีและการตลาด ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้ Metaverse ได้รับการขนานนามว่าคือดาวรุ่งมาแรงที่จะเข้ามาพลิกโฉมหน้าวงการดิจิทัล ที่ลามไปถึงเรื่องของการค้า แฟชั่น การท่องเที่ยว และการศึกษาเลยทีเดียว
ย้อนกลับไปเมื่อไม่นานมานี้ 2 บริษัทที่ปรึกษายักษ์ใหญ่ทางด้านเทคโนโลยีและการจัดการได้ออกมานำเสนอว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะสามารถสร้างรายได้จาก Metaverse ในระดับหลักพันล้านไปจนถึงล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ สอดคล้องกับการที่บริษัทใหญ่อย่าง Apple ที่เพิ่งเปิดตัว Apple Vision Pro, Mixed Reality Headset ในขณะที่ Roblox เองก็ได้ออกมาเผยสถิติจำนวนผู้เข้าใช้ 60 ล้านคนต่อวันในไตรมาสแรกของปี 2023 ซึ่งทั้งหมดนี้มีความขัดแย้งกับข่าวลือที่เกิดขึ้นบนสื่อต่าง ๆ ที่พยายามเสนอว่าเวลาของ Metaverse นั้นได้หมดไปแล้ว
Metaverse ไม่ใช่แค่ Meta
สิ่งหนึ่งที่สร้างความสับสนก็คือการที่ผู้นำโซเชียลแพลตฟอร์มอย่าง Facebook ที่เปลี่ยนชื่อองค์กรเป็น Meta อีกทั้งยังทุ่มเม็ดเงินลงทุนอย่างมหาศาลกับ VR (มากกว่า 10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ) ยังไม่ได้ออกมาเปิดเผยเรื่องราวของ Metaverse ของตัวเองอย่างชัดเจน รวมไปถึงการที่ Mark Zuckerburg ได้ออกมาย้ำว่า Meta กำลังลงทุนใน Generative AI ยิ่งทำให้เกิดข่าวลือว่านี่คือจุดจบของ Metaverse ก็เป็นได้ ถึงแม้ว่า Mark จะพยายามเน้นย้ำแล้วว่าบริษัทยังคงทุ่มเทต่อ Metaverse ก็ตาม
ในความเป็นจริง คอนเซ็ปของ ‘Metaverse’ นั้นกว้างมาก เพราะมันคือชุดเทคโนโลยี แพลตฟอร์ม และวิดีโอเกมส์ที่เราคุ้นเคย ที่ต่างได้รับการพัฒนาและต่อยอดระหว่างกันและกันอย่างรวดเร็ว ก่อตัวเป็นรากฐานที่มั่นคงสำหรับแพลตฟอร์มเสมือนจริงแห่งอนาคตที่ทรงพลัง
มาถึงจุดนี้เราก็ต้องเริ่มคิดถึง ‘ประสบการณ์’ ที่ทุกคนจะสามารถมีร่วมกันบนโลกเสมือนจริงในระยะยาว โดย Matt Day ยังเขียนติดตลกว่า
ต่อไปสำหรับคนรุ่นหลัง Gen Alpha ก็น่าจะเป็นรุ่นที่ไม่เคยได้ยินคำว่า ‘Metaverse’ เพราะได้สัมผัสประสบการณ์และอาศัยอยู่ในโลกเสมือนจริง หรือหากเคยได้ยินคำนี้ ก็จะให้ความรู้สึกว่าเป็นคำที่เก่าและล้าสมัยพอๆกับที่ยุคของพวกเราๆรู้สึกกับคำเรียกอินเตอร์เน็ตว่า ‘cyberspace’
ความสงสัยใคร่รู้ใน ‘next big thing’ นั้นมีประโยชน์และจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะหลาย ๆ ครั้งสิ่งที่เราคิดว่าจะเป็นเทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนโลกของเรา อาจกลับกลายเป็นแค่เทรนด์ที่มาแล้วก็หายไปในชั่วเวลาข้ามคืน หรือบางครั้งเทคโนโลยีบางอย่างที่ล้ำสมัยมาก ๆ ก็อาจจะกลายมาเป็นเรื่องธรรมดาที่คนทั่วไปใช้กันอย่างกว้างขวางในชีวิตประจำวัน เช่น QR codes ที่ได้รับความนิยมจากการที่ผู้คนต้องการความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตมากขึ้น
ดังนั้น นักการตลาดควรให้ความสำคัญต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ปรับเปลี่ยนอยู่เสมอ เราควรมองเทคโนโลยีอันน่าตื่นเต้นเหล่านี้ผ่านสายตาผู้บริโภค เพื่อให้เป็นไปตามความคาดหวังและความต้องการของผู้บริโภคและดำเนินการพัฒนาเทคโนโลยีได้ตรงจุดตอบโจทย์ความต้องการที่เกิดขึ้น
เช่นเดียวกันกับ ‘The Metaverse’ ที่ตัวเทคโนโลยีนั้นมีความสำคัญน้อยกว่าการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคที่เข้ามาใช้เวลาเล่น เข้าสังคมมีปฏิสัมพันธ์กันหรือรับชมคอนเทนท์บนโลกเสมือนจริงมากขึ้น ซึ่งเป็นเทรนด์ที่ปฏิเสธไมได้ โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่ที่มีอายุน้อยและเติบโตมากับเทคโนโลยีรอบตัว แบรนด์ที่ได้กระโดดเข้ามาในพื้นที่นี้และได้สร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้แก่ผู้ใช้งานต่างประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น Niketown จากแบรนด์ Nike ที่มีจำนวนผู้เข้าเยี่ยมชม กว่า 21 ล้านคน หรือแผนที่บน Fortnite ที่สร้างร่วมกับแบรนด์ Gillette ก็มีจำนวนผู้เล่นมากถึง 500,000 คน
คนบางกลุ่มอาจแย้งว่าวิดีโอเกมส์นั้นไม่ใช่ ‘ Metaverse’ ผู้เขียนเห็นด้วยกับมุมมองนี้ เนื่องจากคำว่า ‘metaverse’ อาจจะยังเป็นคำที่ใหม่และยังไม่มีคำจำกัดความที่เหมาะสมในการที่จะอธิบายเทรนด์พฤติกรรมการเข้าไปอยู่ในโลกเสมือนจริง จึงไม่น่าแปลกใจที่ Apple เลือกที่จะไม่ใช้คำนี้ แต่กลับไปใช้คำที่มีการอธิบายอย่างชัดเจนกว่าอย่าง ‘Spatial Computing’
แม้ว่าจะยังมีข้อขัดแย้งกันในเรื่องของคำศัพท์ที่จะใช้เรียก แต่ก็มีสิ่งที่เราเห็นตรงกันก็คือเรื่องของวิธีการและรูปแบบใหม่ที่ทำให้คนสามารถสื่อสารและมีปฏิสัมพันธ์กับดิจิทัลคอนเท้นท์ที่แตกต่างไปจากเดิม โดยจะเป็นประสบการณ์อันดื่มด่ำมากขึ้น สนุกสนานมากขึ้น และปฏิสัมพันธ์กันในสังคมมากขึ้น บางคนอาจจะมองว่ามันเป็นเทรนด์ที่ขยายตัวมากขึ้นของการใช้ VR กันอย่างแพร่หลาย หรือการเติบโตของ digital commerce แต่อย่างไรก็ตาม metaverse จะไม่จากไปเพียงเพราะความสำเร็จหรือความล้มเหลวของสิ่งเหล่านี้
โดยสรุปแล้ว metaverse จะเป็นเทรนด์ของพฤติกรรมและความต้องการของมนุษย์ที่เทคโลยีต้องปรับตาม และเป็นสิ่งที่นักการตลาดควรให้ความสำคัญเพื่อที่จะนำไปสร้างความแตกต่างให้กับแบรนด์ เพราะ metaverse มันไม่เป็นแค่แค่คำศัพท์ใหม่ ๆ ด้านเทคโนโลยีเท่านั้น
____
อ่านเพิ่มเติม Contrary to rumour, the ‘metaverse’ is thriving